4P สู่ 4E หลักการตลาด ต้องรู้จักปรับใช้
โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่มันก็หมุนรอบตัวเองไปตามปกตินั่นแหละ แต่สิ่งที่รวดเร็ว คือ การเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปตามยุคสมัย ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต, แนวคิด, สังคม, ค่านิยม ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ ‘หลักการตลาด’ พื้นฐานที่หลายคนเคยได้ร่ำเรียนมา คือ 4P
แต่ใครล่ะจะรู้ว่า กาลเวลาผ่านล่วงเลยมา 10-20 ปี จนถึงวันนี้.. ทฤษฎี 4P กลายเป็นหลักการตลาดที่ค่อนข้างจะโบราณคร่ำครึ แทบจะเอามาใช้ในทางปฏิบัติในการทำธุรกิจสมัยนี้ ไม่ได้เสียแล้ว จริง ๆ แล้ว ทฤษฎี 4P ที่ประกอบไปด้วย
1) Product (ผลิตภัณฑ์)
2) Price (ราคา)
3) Place (หน้าร้าน, ช่องทางการขาย)
4) Promotion (กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม)
โดยก็ยังคงใช้ประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ หรือแม้แต่การประกอบอาชีพค้าขายได้อยู่ ไม่ใช่ว่า ถึงขนาดจะใช้ไม่ได้เลย
เพียงแต่ ผู้ที่จะนำเอาหลักการ 4Pไปใช้บริหารเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองได้กำไร และเติบโตขึ้นนั้น ถ้าจะใช้ 4P อย่างเดียว คงไม่พอและอาจไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จบนเส้นทางการสร้างแบรนด์ของคุณในระยะเวลาอันรวดเร็วได้อย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น จึงต้องประยุกต์เอาหลักการตลาดอื่น ๆ เข้ามาใช้ผสมผสาน บริหารแบรนด์ธุรกิจของคุณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวช่วยหลักการตลาดยุคใหม่ นั่นก็คือ 4E ประกอบด้วย
1) Experience คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน ผู้ซื้อหรือกลุ่มลูกค้า ไม่ได้มองแค่ตัวผลิตภัณฑ์ (Product) เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขามองว่า สินค้าหรือบริการใด ที่สามารถตอบโจทย์ความสุข หรือการนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่ากัน หรือได้มากที่สุด ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ และยอมจ่าย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนที่คิดจะซื้อ🚗รถยนต์สักคัน หากมีรถรุ่นใหม่ยี่ห้อหนึ่งที่นั่งได้สบายกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า บรรทุกสัมภาระได้มากกว่า ขับง่าย คล่องตัว แต่ราคาแพงกว่าเล็กน้อย กว่ารถอีกยี่ห้อหนึ่ง เชื่อได้เลยว่า ส่วนใหญ่ ผู้บริโภคยอมควักเงินจ่ายรถยนต์รุ่นใหม่คันแรก ที่ตอบโจทย์พวกเขาได้ครอบคลุมมากกว่าอย่างแน่นอน
2) Exchange คือ ความคุ้มค่า ในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มา โดยต้องบอกว่า สมัยอดีต ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแต่ละครั้ง จะต้องมองในเรื่องของ ราคา (Price) เป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับ ความต้องการประสบการณ์ใหม่ (Experience) คือ ยอมจ่าย ยอมซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ หากว่า มันคุ้มค่าจริง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนทำงานประจำที่ใช้รถสาธารณะในการเดินทาง โดยมีจำนวนไม่น้อย ที่ยอมจ่ายค่ารถโดยสารเรียก🚕 Uber Car หรือ Grab Car มากกว่า ตัดสินใจนั่ง Taxi Meter แม้ว่า Uber และ Grab จะคิดค่าโดยสารหรือค่าบริการที่สูงกว่า Taxi Meter ก็ตาม แต่เพราะผู้บริโภค มองว่า นั่งสะดวกสบายกว่า คนขับ ๆ ขี่ปลอดภัยและสุภาพกว่า แม้จะเสียเงินแพงกว่า แต่ก็รู้สึกมั่นใจและปลอดภัยกว่ารถสาธารณะทั่วไป เป็นต้น
3) Everywhere คือ ปัจจุบัน ทุกคนสามารถค้าขายได้ทุกสถานที่ ไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือไม่จำเป็นต้องหาทำเลที่โดนใจ (Place) แต่คุณก็ยังสามารถทำธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง
ยกตัวอย่างเช่น การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 🛍Shopping Mall ต่าง ๆ, การสมัครและเข้าถึงผู้ให้บริการตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือผ่าน Inbox Facebook, เพียงแค่คุณเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต และมีเครื่องมือทำงานอย่าง สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, Tablet ฯลฯ คุณก็สามารถซื้อและขายสินค้า & บริการทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย แค่ปลายนิ้วสัมผัส และตลอด 24 ชม.
4) Evangelism ซึ่งจริง ๆ ก็คือคำว่า Brand Loyalty นั่นเอง คือ แฟนพันธุ์แท้ หรือสาวก หรือความจงรักภักดีต่อแบรนด์นั้น ๆ อยู่แล้ว หากสินค้าและบริการนั้นมีคุณค่า คุ้มค่า และดีจริง จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่นอีก (อาจมีแต่ก็น้อย)
โดยการทำตลาดแบบ♨️ Promotion (กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม) ในแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดขายอะไรได้มากนัก เพราะสมัยนี้ แต่ละธุรกิจ แต่ละแบรนด์ ต่างก็กระตุ้นยอดขายด้วยกลยุทธ์ Promotion ด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เจอแต่แบบเดิม ๆ เดี๋ยวสิ้นเดือนก็มีสินค้าลดราคาอีก ไม่ต้องรีบร้อนซื้อก็ได้
ดังนั้น ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจ จะต้องรู้จักพลิกแพลงกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ เพื่อหาสิ่งจูงใจให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของคุณได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น สร้าง Story ร้านกาแฟสดของคุณขึ้นมาให้ดูน่าสนใจ น่าเข้ามาอุดหนุนใช้บริการทุก ๆ วัน เพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่งร้านอื่น ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเหล่านี้ให้เป็น Evangelism ในแบรนด์ธุรกิจของคุณต่อไปในระยะยาว