ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
องค์กร World Economic Forum (WEF) ได้กล่าวว่า “ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่จะต้องมีคือ สร้างวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creativity)” ในปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนล้วนมีความต้องการแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ (Creativity) ในการสร้างไอเดียเพื่อแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้ แล้วความคิดสร้างสรรค์คืออะไร? เรามาหาคำตอบ “ความคิดสร้างสรรค์” กันนะคะ
ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking นั้นคือ กระบวนการทำงานของสมองซีกขวาของเรา จะทำหน้าที่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์เช่น ดีใจ เสียใจ อารมณ์แสดงความรัก หรือมีความสุข รวมถึงการคิดไอเดียใหม่ ๆ เกิดจินตนาการนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ คือ “การคิดออกนอกกรอบ” นั้นเอง โดยแต่ละคนนั้นมีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ รวมถึงการเลี้ยงดูสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ สังคมและวัฒนธรรมในชุมชนที่อยู่อาศัย จนเกิดเป็นจินตนาการนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งแปลกใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน แล้วเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้รึเปล่า?
หลายคนอาจจะสงสัย จริง ๆ แล้ว เราทุกคนสามารถพัฒนาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตนเองได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการให้อิสระทางความคิด การพยายามคิดออกนอกกรอบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ คิดให้มากหลากหลายทางเลือกหลายวิธี ใช้สติคิดอย่างรอบคอบ อย่าใช้อารมณ์ ปราศจากอคติ ยินดีรับฟังคำตำหนิจากผู้อื่น จงอย่าให้เวลามาเป็นตัวเร่งรัดในการคิดของตน ไม่มุ่งหวังผลกำไรมากเกินไป จงหมั่นฝึกที่จะเป็นผู้ฟังให้มาก และควรหาเวลาฝึกฝนความคิดอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ทุกคนควรจะต้องฝึกสมอง และจัดเวลาสำหรับลับไอเดียให้คมอยู่เสมอ การลองคิดไอเดียใหม่ ๆ ให้กับสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่ใหม่ การจัดวิธีการทำงานใหม่ ก็ถือว่าเป็นการลับความคิดไอเดียของเรา
นอกจากนี้ องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน นิยมให้มีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน โดยจะใช้วิธีการดังนี้
1. การช่วยกันระดมสมอง (Brainstorming)สามารถทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย การเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพื่อเลือกความคิดที่ดีมาแก้ปัญหา
2. การลองคิดในมุมกลับ
ซึ่งเป็นการคิดที่ไม่ยึดติดกับความคิดแบบเดิม ๆ จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ลักษณะเป็นการคิดนอกกรอบเดิม ๆ เกิดสิ่งแปลกใหม่
3. หัดตั้งคําถามให้ตัวเอง
จะเป็นการฝึกนิสัยให้เป็นคนใช้ความคิดและหมั่นตั้งคําถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว (5 W 1 H)
4. ใช้การเปรียบเทียบ
ซึ่งมักใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยการนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อทำให้เกิดความคิดในมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการหมั่นฝึกฝนตัวเองให้มีความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างไอเดียใหม่ ๆ โดยใช้ความแตกต่างหรือความคิดนอกกรอบสร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างสิ่งประดิษฐ์ นำไปสู่การต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมขึ้น
อะไร? ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking ได้แก่
1. กระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Creative Process)ลักษณะเป็นกระบวนการของสมองที่คิดแก้ปัญหาได้สำเร็จ ที่มีความรู้สึกไวต่อปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ แล้วนำผลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสิ่งใหม่ต่อไป ซึ่งกระบวนการในการคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนได้แก่
- ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมตัว (Preparation) เป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากตัวบุคคล และสื่อต่าง ๆ
- ขั้นตอนที่ 2 การบ่มเพาะ (Incubation) เป็นการนำไอเดียหลากหลายมาบ่มเพาะหาไอเดียที่ดีที่สุดมาใช้ประโยชน์
- ขั้นตอนที่ 3 ข้อมูลเชิงลึก (Idea Insight) นำไอเดียที่ดีที่สุดมาคิดสร้างสรรค์และนำไปใช้จริง
- ขั้นตอนที่ 4 การประเมินไอเดีย (Evaluation) การวิเคราะห์และไตร่ตรองไอเดียที่เหมาะสมและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
- ขั้นตอนที่ 5 การปรับใช้ (Elaboration) การนำไอเดียมาลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง เรียกว่า “นวัตกรรม”
2. บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Person)
ลักษณะบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีความสามารถในการคิดพลิกแพลงแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงได้ด้วยดี มีความอยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้น กล้าคิดกล้าแสดงออก มีอารมณ์ขัน มีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดอิสระ และยืดหยุ่น ยอมรับและสนใจสิ่งแปลก ๆ ไม่ค่อยเคร่งครัดกับระเบียบแบบแผน มีจิตใจจดจ่อและผูกพันกับงาน มีความอดทนสูง มีลักษณะเป็นผู้นำ นับถือตนเองและเชื่อมั่นในตัวเอง ชอบรับประสบการณ์ใหม่ ๆ มีความสุขกับการทำงาน / สิ่งที่ตนพอใจ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ หากหมั่นฝึกฝนความคิดอย่างสม่ำเสมอ
3. ผลผลิตสร้างสรรค์ (Creative Product)
เป็นผลผลิตที่แปลกใหม่ และมีคุณค่าต่อผู้คิด สังคม และวัฒนธรรม เป็นผลผลิตที่ไม่ได้คิดดัดแปลงจากการยกเลิกผลผลิต หรือความคิดที่มีมาก่อน เป็นผลผลิตซึ่งได้รับจากการกระตุ้นอย่างสูงและต่อเนื่อง ใช้ความพยายามสูง และเป็นผลผลิตที่ได้จากการประมวลปัญหาซึ่งค่อนข้างคลุมเครือและไม่ชัดเจน
แล้วลักษณะที่จัดเป็นความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอะไรบ้าง?
1. ความคิดอเนกนัย (Divergent Thinking)ความคิดหลากหลาย มีหลายทางเลือกนำไปสู่การแก้ปัญหา มักจะเป็นการระดมสมองรวบรวมความคิดสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน และนำมาเลือกความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถแก้ปัญหาได้
2. ความคิดจินตนาการ (Imagination)
เป็นการคิดต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ลักษณะเป็นกระบวนการคิดสร้างภาพในสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นการคิดในสิ่งที่แปลกใหม่ที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
3. ความคิดไม่คล้อยตามโดยปราศจากเหตุผล (Non-Conforming)
การที่บุคคลไม่ยอมเชื่อหรือคล้อยตามความคิดเห็นผู้อื่น โดยปราศจากเหตุผลของตนเอง
4. มีความรับรู้ไว และมีปฏิกิริยาตอบสนอง (Ability to see, to aware and to respond)
ความรู้สึกไวต่อสภาวะแวดล้อม และแสดงความรู้สึกตอบต่อสิ่งนั้นในทางสร้างสรรค์ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลที่จะสังเกตเห็น รับรู้ เข้าใจ และมีปฏิกิริยาตอบสนอง